เบาหวาน โรคที่ไม่หวานสมชื่อ เพราะเมื่อเป็นแล้วจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา โรคของระบบประสาท รวมถึงโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย และถึงแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไปหรือควบคุมลงมาสู่ระดับของคนปกติได้หากรู้จักดูแลตนเองและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งส่งผลให้เซลล์ต่างๆดื้อต่ออินซูลิน
- ขาดการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้เซลล์ต่างๆไวต่อการนำน้ำตาลไปใช้ หรือช่วยการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้ดีนั่นเอง
- พันธุกรรม เพราะพบว่า คนที่มีครอบครัวสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นเบา หวานมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไป
- เชื้อชาติ เพราะพบว่า คนบางเชื้อชาติเป็นเบาหวานสูงกว่า เช่น ในคนเอเชียและในคนผิวดำ
- อายุ ยิ่งอายุสูงขึ้น โอกาสเป็นเบาหวานยิ่งสูงขึ้น อาจจากการเสื่อมถอยของเซลล์ตับอ่อน หรือขาดการออกกำลังกายจากสุขภาพที่เสื่อมถอย
- มีไขมันในเลือดสูง
- มีความดันโลหิตสูง
อาการของโรคเบาหวาน
อาการหลักสำคัญของเบาหวาน คือ หิวบ่อย กระหายน้ำ และปัสสาวะปริมาณมากและบ่อย นอกจากนั้น เช่น
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- ผิวแห้ง คัน
- ตาแห้ง
- อาการชาเท้าหรือรู้สึกเจ็บแปลบที่ปลายเท้าหรือที่เท้า
- ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้
- เมื่อเกิดแผลในบริเวณต่างๆแผลมักหายช้ากว่าปกติโดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า
- บางครั้งสายตาพร่ามัวโดยหาสาเหตุไม่ได้
การรักษาโรคเบาหวาน
แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน ต้องควบคู่กันไประหว่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยา และการรักษาควบคุมโรคร่วมต่างๆ หรือโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คือ การลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก ลดอาหารแป้ง น้ำตาล และไขมัน เพิ่มอาหารผักและผลไม้ และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุข ภาพ
ส่วนการใช้ยาจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีดอินซูลิน รวมทั้งยาต่าง ๆที่ใช้รักษาโรคร่วมต่างๆ เช่น การรักษาควบคุม โรคความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
การป้องกันเบาหวาน
การป้องกันเบาหวาน คือ การดูแลตนเองเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนั้นคือ การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานให้พบโรค และได้ รับการควบคุมดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆ
โดยทั่วไป แพทย์แนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อดูน้ำตาลในเลือด เริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปี เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว หรือตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลด้วย เมื่อพบว่ามีไขมันในเลือดสูง และ/หรือ มีความดันโลหิตสูง เพราะทั้ง 3 โรคนี้มักเกิดร่วมกันเสมอ เพราะอยู่ในกลุ่มโรคเดียวกัน คือกลุ่มโรคที่เกิดจากมีความผิดปกติในกระบวนการสันดาป หรือเมตาโบลิซึมของร่างกาย (Metabolic syndrome) แต่ในคนทั่วไป การตรวจเลือดเพื่อดูค่าน้ำตาลควรเริ่มที่อายุประมาณ 40 ปี
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยาให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา
- ควบคุมน้ำหนักให้ได้ ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ควบคุมโรคร่วมต่างๆให้ได้
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ จำกัดอาหาร แป้ง น้ำตาล ไขมัน เค็ม เพิ่ม ผักและผลไม้ กินอาหารในปริมาณใกล้เคียงกันทุกๆมื้อ เพื่อแพทย์จะได้แนะนำขนาดการใช้ยาได้ถูกต้อง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆจากการใช้ยา โดยเฉพาะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- รู้จักผลข้างเคียงจากยาเบาหวาน และการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพราะผู้ป่วยจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จากเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง
- รักษาสุขภาพเท้าเสมอ (การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน)
- เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงของโรคเบาหวาน จากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา หรือจำกัดสุราให้เหลือน้อยที่สุด เพราะสุราอาจมีผลต่อยาที่ควบคุมโรคเบาหวานและโรคต่างๆ ทำให้ควบคุมโรคต่างๆได้ยาก สุราทำให้ควบคุมอาหารลำ บาก และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ไม่ซื้อยากินเอง และไม่ใช้สมุนไพรเมื่อกินยาเบาหวาน เพราะอาจต้านหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาเบาหวาน จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเบาหวานที่รุนแรงได้ เช่น ผลต่อไต หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามแพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่
- พบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์เบาหวานและจักษุแพทย์แนะนำ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาแต่เนิ่นๆ ป้องกันตาบอดจากเบาหวาน
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- รีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม
- อาการต่างๆเลวลงกว่าเดิม
- มีไข้สูงและไข้ไม่ลงภายใน 2 วันหลังดูแลตนเอง หรือคลื่นไส้ อาเจียน หรือ ท้องเสียมาก เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้
- กินอาหารได้น้อยกว่าปกติ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- เมื่อมีแผลในบริเวณเท้าและแผลไม่ดีขึ้นภายในประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ควรรีบพบแพทย์ก่อนหน้านี้ เมื่อแผลเลวลง
- เมื่อกังวลในอาการต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น